ศึกสามพญา
[พิมพ์เป็นเล่มแล้ว] FB: คบเพลิง สราญ เหตุการณ์สำคัญในล้านนาที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการสร้างเชียงใหม่ ก็คือตอนที่พญางำเมือง พญามังรายและพญาร่วงนัดหมาย ประชุมทางการเมือง ที่ริมฝั่งแม่น้ำอิง ภูกามยาว
ผู้เข้าชมรวม
790
ผู้เข้าชมเดือนนี้
26
ผู้เข้าชมรวม
พญางำเมือง พญาร่วง พญามังราย ขุนสามชน เมียวดี เมืองฉอด ขอมสบาดโขลญลำพง พญาเจืองธรรมิกร พระเจ้าพรหมราช นางพญาอั้วสิม พญาผานอง ราชบุตรอามป้อม พญาญีบา ภูกามยาว หิรัญนครเงินยาง
ข้อมูลเบื้องต้น
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
คำนำ
คำนำนี้มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านในบางประการ ขอได้โปรดนึกเสียว่าเป็นการสนทนาฉันมิตรกับผมในฐานะผู้เขียน ก่อนจะพาท่านเข้าสู่เรื่องราวในนวนิยายอิงตำนานเรื่องนี้ต่อไป
ผมเป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด ชอบวิชาประวัติศาสตร์มาตั้งแต่เยาว์วัย จำได้ว่าเมื่อครั้งเรียนชั้นประถม ในชั่วโมงประวัติศาสตร์จะตั้งใจเรียนเป็นพิเศษ ครูผู้สอนท่านมีความรู้มากมายและหลากหลาย บนกระดานดำหน้าห้องที่ถูกนำมาต่อกันยาวร่วมสิบเมตรจะเต็มไปด้วยภาพวาดสีชอล์กประกอบการสอน ผมเห็นภาพของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงจรดสิ่วลงบนผิวแผ่นศิลาอย่างช้าๆ …ท่ามกลางเสียงสายลมลอดเลื้อยฝ่าดงตาลแผ่วผิวดั่งมนต์อวยพร ประสานรับกับเสียงสวดพระปาติโมกข์ของเหล่าภิกษุสงฆ์สะกดบรรยากาศโดยรอบเข้มขลังมลังเมลืองศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก คมสิ่วไหลเรื่อยไปบนแผ่นศิลาอย่างนุ่มนวลพร้อมพรที่องค์พญาร่วงได้ประสิทธิ์ประสาทไว้ในลายสือไทตัวแรกของโลก...กอไก่...โดยไม่ยกสิ่วจารขึ้นเลย… ยังเห็นการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชท่ามกลางฝุ่นคลุ้งกระจาย ‘โดด’ ออกมาจากกระดานดำได้อย่างแจ่มชัดงดงามมิรู้ลืม แต่กระนั้นก็มีข้อกังขาประการหนึ่งที่ค้างคาใจเรื่อยมา…ขณะที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกำลังกอบกู้อิสรภาพหรือตอนที่ชาวบ้านบางระจันต่อสู้กับพม่าอยู่นั้น ทางประเทศจีนและฝรั่งมีสภาพเป็นอย่างไร ผู้คนในแว่นแคว้นใกล้เคียงอย่างอาณาจักรล้านนากำลังทำอะไรกันอยู่ ทำนา ทำไร่ จักสาน ทอผ้า ค้าขาย หรือทำศึกสงครามเหมือนคนไทยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ข้อสงสัยนี้ยังดำรงอยู่เรื่อยมา กระทั่งได้มีโอกาสขึ้นไปศึกษาที่มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ กลิ่นอายทางเมืองเหนือได้กระตุ้นความสงสัยในวัยเด็กให้ผุดพรายขึ้นมาอีกครั้ง ยิ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้รับรู้เรื่องราวทางภาคเหนือมากขึ้น คำถามคาใจก็ยิ่งมีมากขึ้นตามไปด้วย…ทำไมพญามังรายผู้สร้างนครเชียงใหม่อันเป็นรากฐานสำคัญของอาณาจักรล้านนาที่ยิ่งใหญ่ถึงไม่ถูกนับรวมเป็นมหาราชของไทยด้วย ทั้งที่เชียงใหม่และสุโขทัยก็ยิ่งใหญ่ทัดเทียมกันและล้วนเป็นคนเสียมเช่นเดียวกัน*
ในกาลสมัยขององค์สามพญาเจ้า อันประกอบด้วยพญางำเมือง พญาร่วงและพญามังรายได้มีการกระทำ ‘สัตยาธิษฐาน’ ที่ลำน้ำอิงเพื่อร่วมมือกันต้านภัยจากกองทัพมองโกลที่รุกลงมาจากทางเหนือ ตามเอกสาร ‘หยวนสื่อ’ ของจีนสมัยราชวงศ์หยวนได้บันทึกไว้ว่ามีการส่งกองทัพเข้ารุกรานแคว้นปาไป่สีฟู่ (ชื่อที่ทางจีนใช้เรียกแคว้นโยนรัฐหรือดินแดนที่ก่อนจะมาเป็นล้านนาในอีก ๑๐๐ ปีถัดมา) อย่างน้อยสองครั้งแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จทั้งสองครั้ง นี่ก็สะท้อนถึงวิเทโศบายของสามพญาเจ้า โดยเฉพาะพญามังรายที่มีความยืดหยุ่นสูง ยอม ‘อ่อน’ ในยามที่ต้องการความร่วมมือร่วมใจต้านภัยจากศึกภายนอก แต่จะแข็งกร้าวในยามก่อศึกสงครามรวบรวมบ้านเมืองจนกลายเป็นอาณาจักรล้านนาได้ในเวลาต่อมา
ตอกย้ำความยิ่งใหญ่ด้วยการที่พระองค์ได้กรีธาทัพไปยังพุกามและหงสาวดีจนได้ชัยเหนือแคว้นทั้งสอง แปลกที่ความยิ่งใหญ่นี้ไม่ได้ถูกจดจารไว้ในพงศาวดารของไทย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักหรือตำนานท้องถิ่นที่มีอยู่น้อยเต็มทน แต่กลับไปปรากฏอยู่ในเอกสารของอาณาจักรใกล้เคียงอย่างจีน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเรื่องราวเหล่านี้ถึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับใครหลายคนที่ได้รับรู้ประวัติศาสตร์เพียง ‘แนวดิ่ง’ เท่านั้น
สุโขทัยมีเจดีย์มหาธาตุ เงินยางก็มีเจดีย์เหลี่ยมหรือเจดีย์กู่คำที่เวียงกุมกาม สุโขทัยได้พระพุทธสิหิงค์จากนครศรีธรรมราช เงินยางก็ได้พระแก้วขาวหรือ พระเสตังคมณีที่งดงามจากหริภุญชัยเช่นกัน สุโขทัยมีลายสือไท ในเวลาใกล้เคียงกัน ล้านนาก็มีอักษรธรรม ทางเศรษฐกิจ พญามังรายได้ให้ความสำคัญต่อปากท้องของไพร่ฟ้า ‘กาด’ กลางเวียงเชียงแสน กุมกาม เชียงใหม่ และหริภุญชัย จากตำนานที่เขียนบรรยายสภาพอันน่าสนุกสนานตื่นตาตื่นใจของตลาดเหล่านี้ก็พอจะจินตนาการออกว่ามีความคึกคักไม่น้อยไปกว่าตลาดปสานในสุโขทัยและศรีสัชนาลัยเลย หากจะกล่าวว่าสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงคือยุครุ่งอรุณแห่งความสุขแล้ว ก็พอจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า อาณาจักรล้านนาในรัชสมัยของพญามังรายก็กำลังเข้าสู่ยุคอุษาโยคเฉกเดียวกัน
กล่าวสำหรับแคว้นภูกามยาวในรัชสมัยของพญางำเมืองนั้นก็นับว่ายิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน ทั้งที่ถูกขนาบด้วยสองแคว้นที่พรักพร้อมกว่าทั้งขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรอย่างหิรัญนครเงินยางและสุโขทัย แต่ด้วยความเข้มแข็งของพระองค์จึงสามารถดำรง เอกราชไว้ได้อย่างสง่างาม ทั้งยังได้แผ่แสนยานุภาพไปจรดเวียงงาวและปัววรนคร (เมืองน่านในปัจจุบัน) อีกด้วย
ภาพในจินตนาการของศึกสงครามอันน่าตื่นเต้น การเมืองที่เร้าใจ ความเป็นอยู่ของผู้คนและธรรมชาติที่งดงามในดินแดนแถบนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมนึกอยากเขียน นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของล้านนาในยุคนี้ขึ้นมาสักเรื่อง แต่ด้วยในเวลานั้น หน้าที่การงานยังมากอยู่ จึงยังไม่สามารถริเริ่มเขียนขึ้นมาได้ กระทั่งสามปีก่อน ช่วงที่ภาระงานประจำเบาบางลง ทางมูลนิธิ สามกษัตริย์ พะเยา ได้ติดต่อมาให้ช่วยเขียนเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ‘สัตยาธิษฐานลำน้ำอิง’ ผมจึงตอบตกลงทันที แล้วอักษรตัวแรกของนวนิยายอิงตำนานประวัติศาสตร์ ‘แนวขวาง’ ของชนชาติเสียมบริเวณลุ่มน้ำกก-อิง-ปิง-ยม-น่านในนาม ‘ศึกสามพญา’ ก็ได้มีโอกาสถือกำเนิดขึ้นในบรรณพิภพ
การนี้ ผมได้เริ่มต้นด้วยการวางพล็อตโดยอาศัยเส้นเวลา (Timeline) ตามตำนานของแคว้นโยนรัฐหรือโยนกเป็นหลักแล้วค่อยนำไปเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์ของแว่นแคว้นใกล้เคียงในห้วงเวลาเดียวกัน เบื้องต้นได้ใช้เพียงตำราที่มีอยู่ในมือขณะนั้น ประกอบด้วย ‘พระราชพงศาวดารพม่า’ และ ‘ราชพงศาวดารไทใหญ่’ พระนิพนธ์ในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ‘พงศาวดารโยนก’ ของพระยาประชากิจกรจักร ‘ราชาธิราช’ ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ‘ประวัติศาสตร์ล้านนา-๒๕๕๘’ ของอาจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล และ ‘ยกเครื่องเรื่องมองโกล-๒๕๕๓’ ของอาจารย์สุขสันต์ วิเวกเมธากร (เล่าชวนหัว) มาปะติดปะต่อเข้าด้วยกันเป็นแนวทาง
ก่อนจะลงรายละเอียดด้วยการให้ตัวละครพาไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น พร้อมเสาะหาแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมควบคู่กันไปด้วย ตำราที่ใช้อ้างอิงในห้วงเวลานี้ที่สำคัญ คือ ‘ล้านนามหาปกรณัม-๒๕๖๔, ‘สุโขทัย ประวัติศาสตร์ จารึกศาสตร์และนิรุกติประวัติ-๒๕๖๓’ และ ‘รุธิราชรำพัน’ (โคลงนิราศหริภุญชัย)-๒๕๖๒ ของอาจารย์วินัย พงศ์ศรีเพียร เอกสารของจีนอย่าง ‘ความสัมพันธ์ไทย-จีน จากเอกสารสมัยราชวงศ์ หยวน-หมิง-ชิง’ ของกรมศิลปากร ‘สยามประเทศ’ -๒๕๓๔ ของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ‘แคว้นสุโขทัย-รัฐในอุดมคติ’-๒๕๓๑ ของอาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ และยังอีกมากมายหลายแหล่งตามที่ได้ระบุไว้ในบรรณานุกรมท้ายเล่ม ด้านศิลปะและขนบประเพณี ใช้ ‘ศิลปะล้านนา’-๒๕๕๖ ของอาจารย์ ศักดิ์ชัย สายสิงห์ และ ‘ประเพณีไทยภาคเหนือ’ ของ สงวน โชติสุขรัตน์ เป็นแนวทาง ส่วนสำนวนการประพันธ์ทั้งภาษาไทยกลางและ ‘กำเมือง’ พยายามศึกษาจากงานเขียนของครู กฤษณา อโศกสิน ทมยันตี และ มาลา คำจันทร์ ทั้งหมดทั้งปวง ผมใช้เวลาสามปีเต็มทำงานอย่างหนักก็เพื่อให้ ‘ศึกสามพญา’ ออกมาดีที่สุดทั้งในแง่สาระและบันเทิง
แม้ ‘ศึกสามพญา’ จะเป็นเพียงนวนิยายอิงตำนานและพงศาวดารที่มุ่งเน้นความบันเทิงเป็นข้อใหญ่ แต่ผมก็พยายามไม่ให้คลาดเคลื่อนเกินไปจากบันทึกตำนานและประวัติศาสตร์มากนัก ตัวละครหลักส่วนใหญ่มีปรากฏจริงตามตำนานและพงศาวดาร ตัวรองส่วนน้อยถูกแต่งขึ้นเพื่อให้เรื่องราวดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและแนบเนียน
นอกจากปรารถนาจะให้ผู้อ่านได้รับความบันเทิงในแง่ของความเป็นนวนิยายแล้ว ยังต้องการให้ ‘ศึกสามพญา’ เป็นแรงกระตุ้นให้คนไทยโดยเฉพาะเยาวชนได้เกิดความใคร่รู้ในประวัติศาสตร์ของชาติทั้งกระแสหลักและท้องถิ่นอันน่าหลงใหล ทั้งยังต้องการให้เป็นเสมือนคู่มือนำเที่ยวแหล่งโบราณสถาน ด้วยมีความรู้สึกส่วนตัวว่าเมื่อได้ซึมซาบจากวรรณกรรมแล้ว คราวใดที่ได้มีโอกาสท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่ปรากฏอยู่ในท้องเรื่อง ก็จะเข้าใจในความเป็นมาของโบราณสถานนั้นๆ โดยไม่ต้องพยายามจดจำเลย การท่องเที่ยวครั้งต่อไปจะได้ไม่เป็นเพียง ‘ชะโงกมอง’ กองอิฐเหมือนที่ผ่านมา
งานประพันธ์นี้แม้จะใช้ภาษาไทยถิ่นเหนือ ‘กำเมือง’ ในประโยคคำพูดแต่ก็ไม่ทั้งหมด ด้วยเกรงผู้อ่านที่มิใช่ ‘คนเมือง’ จะไม่เข้าใจ ดังนั้นจะใช้พอให้ได้กลิ่นอายความเป็นล้านนาเท่านั้น เอาเข้าจริง พันปีก่อนผู้คนในย่านถิ่นนี้ก็คงไม่ได้สื่อสารกันด้วย ‘กำเมือง’ อย่างที่ได้ยินได้ฟังกันในปัจจุบัน แต่ก็ขออนุโลม และด้วยเป็นตำนาน ‘แนวขวาง’ การปะทะสังสรรค์ทางภาษาระหว่างแว่นแคว้นย่อมเกิดขึ้นซึ่งเกินจินตนาการของผู้เขียนว่าสมัยนั้นเขาสื่อสารกันอย่างไร ม่านพยูกับมองโกล ไทใหญ่กับไทยวน ยวนโยนกกับสุโขทัยหรือกระทั่งมอญกับไทเลืองสุโขทัย ดังนั้นนอกจากชาวยวน (ผู้ที่อาศัยอยู่ในดินแดนโยนกอันประกอบด้วยหิรัญนครเงินยาง ภูกามยาว สิบสองปันนาและในรัฐฉานโบราณบางส่วน) ที่ใช้ ‘กำเมือง’ แล้ว คนในดินแดนอื่นทั้งหมดจะใช้ภาษาไทยกลางเป็นหลัก
บทแรกๆ ท่านอาจจะไม่คุ้นสำเนียงและชื่อบุคคลที่ดูจะมากมาย แต่มั่นใจว่าเมื่ออ่านไปได้ไม่นาน ท่านก็จะจับสำนวนภาษาและอ่านได้อย่างมีอรรถรสมากขึ้น ส่วนคำเฉพาะที่เห็นว่าน่าสนใจก็จะหมายเหตุไว้ เช่นคำว่า ‘ตบตะผาบ’ ‘ฮีตคลอง’ ‘ขึด’ ‘เครื่องแง้ เครื่องง้า’ เช่นนี้เป็นต้น
แม้จะคุ้นเคยกับสำเนียงการพูดของคนเมืองอยู่บ้าง ด้วยเคยไปศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมีเพื่อนฝูงเป็นคนเมืองอยู่บ้างก็ตามที แต่เมื่อเขียนไปได้ระยะหนึ่งก็เริ่มหนักใจอยู่ไม่น้อยด้วยไม่สันทัดการใช้งาน ‘กำเมือง’ โชคดีที่อาจารย์ วิมล ปิงเมืองเหล็ก ปราชญ์ล้านนาได้กรุณาตอบรับคำเชิญของผมให้เกียรติมาเติมเต็มในส่วนนี้ ส่งผลให้งานเขียนนี้มีความสมจริงมากยิ่งขึ้น ทำให้มั่นใจว่า “ศึกสามพญา” จะอยู่ในใจของนักอ่านโดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน จึงขอขอบพระคุณอาจารย์วิมล ปิงเมืองเหล็ก มา ณ ที่นี้ด้วย
งานประพันธ์นี้เกิดจากความรักในประวัติศาสตร์และงานเขียน ไม่ได้มีเจตนา ลบหลู่หรือมีอคติต่อใครหรือชนชาติใดเป็นการเฉพาะ ความคลาดเคลื่อนและข้อผิดพลาดในหนังสือเล่มนี้ หากจะมีก็ล้วนเกิดจากความไม่ตั้งใจและต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
คบเพลิง สราญ
๒๕๖๖
*ชาวเสียมไม่จำเป็นต้องเป็นชนชาติไทเสมอไป หากเป็นกลุ่มชนที่มีการผสมผสานของหลายชนชาติที่มามีความสัมพันธ์กันทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมจนเป็นที่รับรู้ของชนกลุ่มอื่นหรือรัฐอื่นที่ร่วมสมัยเดียวกัน (ศรีศักร วัลลิโภดม - สยามประเทศ-๒๕๓๔) ตำนานชินกาล มาลีปกรณ์เรียกสุโขทัยว่าสยาม (เสียม) ประเทศ สอดคล้องกับที่จีนเรียกผู้คนในบริเวณนี้ว่าเสียม ส่วนผู้ปกครองสุโขทัยนั้นเป็นชาวไทเลิงหรือปกเลือง (วินัย พงศ์ศรีเพียร – สุโขทัยคดี-๒๕๖๓) ในขณะที่ จิตร ภูมิศักดิ์ อ้างอิงจากคำว่า ‘เนี่ย เสียมกุก’ ที่จำหลักอยู่ใกล้กับภาพสลักขบวนทัพจากลุ่มน้ำกกของขุนเจืองวีรบุรุษของชาวยวนเงินยางบนกำแพงนครวัด ว่าเป็นชาว ‘เสียม’ จากลุ่มน้ำกก (เชียงราย) จึงสันนิษฐานว่าไทยวนน่าจะนับเป็นเสียมด้วย (จิตร ภูมิศักดิ์ - ความเป็นมาของคำสยามฯ-๒๕๕๖) จากเหตุผลข้างต้นจึงอาจสรุปได้ว่า…คนไทคือเสียมแต่เสียมอาจไม่ใช่คนไทเสมอไป
ผลงานอื่นๆ ของ คบเพลิง สราญ ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ คบเพลิง สราญ
ความคิดเห็น